จากใจ..ผู้อำนวยการ

ยินดีต้อนรับท่านผู้มีเกียรติ ที่มาเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ ของดิฉัน
ดิฉันใคร่ขอกล่าวแนะนำตัวแก่ท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม เพื่อให้ท่านรู้จักกับดิฉันก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาสาระที่บรรจุไว้ในเว็บไซต์แห่งนี้ต่อไป
ดิฉัน ชื่อนางสุขะมุกข์ เรืองอ่อน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนเจดีย์ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา สำนักงาเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต 3 ดิฉันตั้งใจให้เว็บไซต์แห่งนี้ เป็นที่เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและการจัดการศึกษารวมถึงภารกิจงานภายในโรงเรียนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นหน้าต่างของดิฉันที่จะติดต่อสื่อสารกับท่านทั้งหลายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น หากท่านมีข้อเสนอแนะประการใด ดิฉันยินดีรับฟัง และยินดีนำข้อเสนอแนะที่ดีไปปรับปรุงงานของดิฉันต่อไป..ตอนนี้ดิฉันได้เพิ่มบล็อกใหม่อีกบล็อกเป็นบล็อกเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบสันติวิธีเชิญทุกท่านเข้าไปชมและดาวโหลดเอกสารเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบสันติวิธึได้ที่ http://r-sukhamuk-admin.blogspot.com/
หากมีผลงานใดที่ท่านสนใจ กรุณาติดต่อผ่านทางเมล์ดิฉันจะส่งเมลล์กลับสู่ท่าน
นางสุขะมุกข์ เรืองอ่อน
muk_rueng-on@hotmail.com
มีนาคม 2551

17 สิงหาคม 2550

ทิศทางการบริหารและการจัดการศึกษา โรงเรียนบ้านควนเจดีย์

ทิศทางการบริหารและการจัดการศึกษา
โรงเรียนบ้านควนเจดีย์
ปีการศึกษา 2550 - 2552
สุขะมุกข์ เรืองอ่อน

หลักการ
1. จัดการศึกษาเพื่อชีวิต
2. จัดการศึกษาบนพื้นฐานคุณธรรม คุณภาพ เอกภาพ ดุลยภาพ ระบบและมาตรฐาน
3. พัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
4. พัฒนานักเรียน ครู เจ้าหน้าที่และนักการภารโรง
5. ระดมศักยภาพของบุคลากรและทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา
6. ให้ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

นโยบาย
ข้อ 1 ด้านการบริหารและการจัดการ
มุ่งปรับปรุงระบบการบริหารและการจัดการด้านการศึกษา ให้เหมาะสม และมีมาตรฐานสากล สอดคล้องกับนโยบายของสพฐ. และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ด้วยมาตรการต่อไปนี้
1. ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของโรงเรียน ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสพฐ.
2. ปรับปรุงคู่มือการบริหารงานของโรงเรียน
3. มอบหมายงานและหน้าที่ตรงตามวุฒิการศึกษา ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์หรือความถนัด
4. ส่งเสริมครูให้รับผิดชอบในหน้าที่ ปฏิบัติงานตามระบบ ตามขั้นตอนและตามสายงานบังคับบัญชาพร้อมทั้งทำงานเป็นทีม
5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบริหารและการจัดการอย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ
6. ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานระดับล่างมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
7. ดำเนินงานในรูปนิติบุคคล และบริหารงานในรูปคณะกรรมการ
8. พัฒนาระบบการประเมินการปฏิบัติงานของบุคลากรและการรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี
9. ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ชุมชน สถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมจัดการศึกษาและสร้างเครือข่ายทางการศึกษา
10. จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาโรงเรียน

ข้อ 2 ด้านการพัฒนาวิชาชีพครู
มุ่งพัฒนาครูผู้ร่วมบริหาร ครูผู้สอนและครูสนับสนุน ให้มีคุณธรรมจริยธรรม มีความรู้ความสามารถ และมีความชำนาญแบบมืออาชีพ รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาฯ ด้วยมาตรการต่อไปนี้
1. พัฒนาครูให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาฯและเป็นครูมืออาชีพ
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูได้ศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น ตามความต้องการของโรงเรียน
3. ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและค่านิยม ให้แก่บุคลากรอย่าง จริงจังและต่อเนื่อง
4. สนับสนุนให้ครูทุกท่านพัฒนาตนเอง ทุกรูปแบบ ทุกมิติ ตามหน้าที่ ตามความสนใจอย่างต่อเนื่องและเท่าทันเหตุการณ์/สถานการณ์
5. สนับสนุนการค้นหาและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรแต่ละคน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน และสังคม
6. จัดระบบการนิเทศการสอนและการทำงานให้มีประสิทธิภาพ จริงจัง และสม่ำเสมอ

ข้อ 3 ด้านขวัญ กำลังใจ และสวัสดิการของบุคลากร
มุ่งเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ และสวัสดิการแก่บุคลากรให้มีความมั่นใจในการทำงาน มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ด้วยมาตรการต่อไปนี้
1. ปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น
2. ยกย่อง เชิดชูเกียรติและพิจารณารางวัลให้แก่ครูเกษียณ ครูต้นแบบ ครูดีเด่น ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทและเสียสละ เพื่อนำชื่อเสียงและความภาคภูมิใจมาสู่โรงเรียน
3. จัดตั้งกองทุนถาวรสำหรับโรงเรียนและบุคลากร

ข้อ 4 ด้านการจัดการเรียนการสอน
เร่งรัดปฏิรูปการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความสุข รักการเรียนรู้ สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถปฏิบัติตนให้มีคุณค่าต่อสังคม ด้วยมาตรการต่อไปนี้
1. จัดทำและพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียน โดยมีหลักสูตรแกนกลางเป็นพื้นฐาน และเพิ่มหลักสูตรเฉพาะที่เหมาะสมกับท้องถิ่น
2. จัดทำแผนการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุด
3. จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสามารถ ความสนใจและความถนัดของนักเรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
4. จัดการเรียนรู้และกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาตามศักยภาพ
5. ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
6. จัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
7. ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และมีทักษะทางภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ
8. นำทรัพยากรโรงเรียนและท้องถิ่นมาเป็นพลังสำคัญในการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้
9. ปลูกฝังนักเรียนให้มีคุณธรรมนำความรู้ ยึดเศรษฐกิจพอเพียง และมีนิสัยรักการออม
10. ส่งเสริมครูและนักเรียนออกไปสัมผัสชีวิตผู้ที่ได้รับความยากลำบากในสังคม เพื่อฝึกให้เป็นผู้เสียสละต่อชุมชนและสังคม
11. กำหนดให้ครูผู้สอนจัดทำวิจัยในชั้นเรียนและประกวดสื่อการเรียนการสอนอย่างน้อยปีการศึกษาละ 1 ครั้ง และนำผลมาใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้
12. ส่งเสริมการวัดผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย และประเมินสภาพจริง โดยพิจารณาจากพัฒนาการ ความประพฤติ พฤติกรรม การร่วมกิจกรรมควบคู่กับแบบทดสอบ
13. เน้นการนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ข้อ 5 ด้านอาคารสถานที่ เทคโนโลยี / นวัตกรรม
มุ่งปรับปรุง/ซ่อมแซมอาคารสถานที่ รวมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ด้วยมาตรการต่อไปนี้
1. ปรับปรุง/ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบการ ระบบไฟฟ้า น้ำประปา สนามและบริเวณโรงเรียน ให้สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการจัดการศึกษา การเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
2. จัดและตกแต่งสถานที่ภายในโรงเรียน ให้เป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้
3. จัดหา พัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรม มาใช้ในกระบวนการบริหารการจัดการและการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ



ข้อ 6 ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา
มุ่งพัฒนาคุณภาพของสถาบันให้มีมาตรฐานสากล ทั้งในด้านปัจจัย กระบวนการ
ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน จนสามารถประกันคุณภาพฯ และได้รับการรับรองคุณภาพฯ จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ด้วยมาตรการต่อไปนี้
1. พัฒนาคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานฯ โดยการประเมินตนเองและประเมินภายใน เพื่อสร้างความพร้อมก่อนที่จะมีการประเมินภายนอก
2. จัดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษา อีกทั้งผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จากสำนักงานรับรอง มาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
3. จัดทำและนำเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต่อสาธารณชน
พัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะรับการประเมินอีกในครั้งต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: